วิถีชีวิตของไทยพวนศรีสัชนาลัย

ไทยพวนศรีสัชนาลัย
ภาพมารดาของคุณสาธร แต่งกายโบราณแบบชาวไทยพวนศรีสัชนาลัย
 

เมื่อโยกย้ายจากถิ่นฐานบ้านเดิมเข้ามาตั้งหลักแหล่งใหม่ในแผ่นดินสยามนั้น ชาวพวนกลุ่มหนึ่งได้เลือกเอาพื้นที่ราบลุ่มด้านทิศใต้ของเชิงเขาดอยเขามุ้ง ริมฝั่งแม่น้ำยมด้านทิศตะวันออก และที่ราบเชิง๓พ้างอมริมฝั่งน้ำยมด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งบ้านเรือน พื้นที่ดังกล่าวนี้ขึ้นกับเมืองสวรรคโลก ชาวพวนได้ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำยม ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ และบ้านแม่ราก ได้ "สร้างบ้านแปงเฮือน" ตามแบบฉบับของชาวพวนดั้งเดิม ชาวพวน ๔ หมู่บ้านนี้คือ ชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยทุกวันนี้

   
ดอยเขามุ้ง
 
 
ริมฝั่งแม่น้ำยมทางทิศตะวันตก ที่ราบภูพ้างอม
   
บ้านเรือนของชาวพวนศรีสัชนาลัยนิยมปลูกสร้างให้ติดๆกันเพื่อความอบอุ่น และเพื่อการพึ่งพาอาศัยกัน ลักษณะของบ้านจะเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงเพื่อใช้ใต้ถุน ซึ่งจะโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เป็นเนื้อที่ที่ใช้ประโยชน์ใช้สอยหลายประการ เช่น เป็นคอกวัว - ควาย เล้าเป็ด - ไก่ ตั้งกี่ทอผ้าให้แม่บ้านและลูกสาว ตั้งเตาตีเหล็กให้พ่อบ้านและลูกชาย ใช้เก็บถ่านไม้ฟืน ตั้งแคร่ไม้ไผ่ไว้พักผ่อน และ ลมกัน (คุยกัน) กับเพื่อนบ้าน
 
ลักษณะของตัวบ้านชาวไทยพวนนั้นจะมี ๔ ส่วน คือ เมื่อขึ้นบันไดไปจะมี "ซานท่อง" (ชานเรือน) "เฮือนเหญ่อ" (เรือนหลังใหญ่) "เงียเค้า" (ยุ้งข้าว) และ "เฮือนครัว" (เรือนครัว) ซึ่งเฮือนใหญ่นั้นจะกั้นแบ่งส่วนเรียกว่า "กวงเฮือน" เพื่อให้ลูกสาวนอน ในห้องนี้จะมีหิ้งไว้บูชาผีเรือน เรียกว่า "ผีพ่อเลี้ยง" ห้อง "กวงเฮือน" จะไม่อนุญาติให้บุคคลภายนอกล่วงล้ำเข้าไปเพราะจะผิดผีพ่อเลี้ยง ถ้ามีการล่วงล้ำเจ้าบ้านจะต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา ปัจจุบันนี้บ้านแบบพวนนับวันจะเลือนหาย เพราะลูกหลานนิยมบ้านทรงสมัยใหม่
   
เฮือน นายธรรมแสน โสตถิกุล
เงี้ยเค้า บ้านนายประสงค์ โกศัย
   
ชาวไทยพวนมีภูมปัญญาที่ควรยกย่องอย่างยิ่ง ในเรื่องการทำให้ "กวงเฮือน" เย็น เพราะมีลมพัดผ่านด้วยการเจาะรูไม้กะทอด จะเจาะเป็นระยะๆตามแนวยาว รูเจาะนี้นอกจากลมจะถ่ายเทได้สะดวกแล้วบ้านที่มีลูกสาวในยามค่ำคืนอาจจะมีคู่รักหรือ "อ้ายบ่าว" ไปยืนบนเขื่อนควาย (ไม้คอกควาย) เอาไม้แหย่เข้าไปในช่องที่เจาะไว้เพื่อหยอกล้อ "พู้สาว" หรือเพื่อเรียกให้พู้สาวออกมาคุยกันที่ป่องเอี๊ยม
บริเวณตัวบ้านเรียก "กางบ๊าน" แล้วแต่ว่าบ้านใครจะมี "กางบ๊าน" กว้างขวางมากน้อย บริเวณ "กางบ๊าน" จะใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ปลูกข่า หัวติงเคอ (ตะไคร้) หม่าพริก (พริก) หม่านาว (มะนาว) หม่าเขือ (มะเขีอ) แค หม่าหมี้ (ขนุน) ผักเน่า (ชะอม) ฯลฯ และไม่ลืมที่จะปลูก "เดาะคำเดาะคอน" (ดอกดาวเรือง) "เดาะสามปี" (ดอกบานไม่รู้โรย) และ "เดาะพุด" (ดอกพุด) เพื่อ "พู้เฒ่า" (คำเรียกปู่ย่าตายาย) เก็บไปไหว้พระที่วัด กางบ๊าน ทำเป็นที่ตากฝ้าย เล่นนางกวักในประเพณีกำฟ้า ชาวไทยพวนจะทำร้ัวบ้านด้วยไผ่ผ่าซีกจะปลูกผักเน่า (ชะอม) ตำลึง ต้นย่านาง บวบ ฟัก ฯลฯ ให้ทอดเถาพันเลื้อยนรั้ว ผักเหล่านี้จะทอดยอดชูใบให้เด็ดไปประกอบอาหาร เจ้าของเต็มที่จะแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน โดยมิต้องซื้อหา รั้วบ้านชาวไทยพวนศรีสัชนาลัยจึงเป็นรั้วแบบกินได้มานานแล้ว

นับย้อนเวลาขึ้นไป สายน้ำนยมยังไม่ตื้นเขินสองฟากฝั่งยังไม่สูงชันนัก หลังฤดูน้ำหลากแม่น้ำจะทิ้งโคลนตมอันจะกลายเป็นเนื้อดินอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุไว้ให้ ชาวไทยพวนจะลงมาปลูกพืชผักต่างๆ เช่น หอม กระเทียม กระด๊าง (มันเทศ) หม่าฮ้อ (ถั่วลิสง)ใบยาสูบ เป็ยต้น เวลา เช้า - เย็น สองฝั่งน้ำจะมีผู้คนมากหน้าหลายตาทั้งเด็กผู้ใหญ่หนุ่มสาวลงมาที่ตลิ่งแม่น้ำ บ้างก็เล่นน้ำบ้างก็ตักน้ำรดพืชผักที่ปลูกไว้ "ตีนท่า" (ท่าน้ำ) บ้างก็ตักน้ำขึ้นไปใช้สอยที่บ้าน กลางแม่น้ำจะมีเรือหาปลาลำน้อยที่เจ้าของกำลังลงข่ายหรือขว้างแห (ทอดแห) ปลาที่ได้นำมาเป็นอาหารในครอบครัว ถ้าได้มากก็แบ่งขายหรือแจกจ่ายพี่น้อง อาชีพของคนไทยพวนศรีสัชนาลัยในอดีตนั้นจะทำนาทำไร่ตามฤดูกาล
 
กลับสู่ด้านบน >
 
ภาษาไทยพวนโบราณ
 
เกียรติคุณที่ได้รับ
 
ดูวีดีโอจากรายการต่างๆ
รวมรูปภาพ
 
 
ที่อยู่: 477/2 ต.หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย 64130 โทร. 055 671143 แฟกซ์. 055 630119
 
 
 
© Copyright 2012. Sathorn Gold Textiles Museum. All rights reserved.